ทุกคนอาจเคยประสบปัญหา เมื่อเจอทางตันในการแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตการทำงาน หรือในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางทีกว่าจะคิดหาทางแก้ได้ ก็หมดเวลา ทำให้ส่งงานไม่ทันตามกำหนด
ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ถ้าเราสามารถใช้แนวคิดเชิงนามธรรม เพราะแนวคิดเชิงนามธรรมจะช่วยให้เรามีไอเดียใหม่ๆ หรือช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในระหว่างการทำงานได้ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะเจอปัญหาชวนปวดหัว เรามาเรียนรู้วิธีการใช้ประโยชน์ จากแนวคิดเชิงนามธรรมกันนะครับ
แนวคิดเชิงนามธรรม คืออะไร
แนวคิดเชิงนามธรรม (Abstract Thinking) คือ การมองเห็นบริบทและภาพรวม สิ่งต่างๆ แนวคิด หรือเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ถ้าเรามีสุนัขตัวหนึ่ง การคิดแบบรูปธรรมก็คือการคิดเห็นภาพสุนัขของเรานั่งเดินนอนตามปกติ แต่แนวคิดเชิงนามธรรม เราจะมองเห็นสุนัขโดยทั่วไป ความสัมพันธ์ของคุณกับสุนัข และการที่สุนัขมีผลกับชีวิตและโลกของเรา
อีกหนึ่งตัวอย่างของการคิดเชิงนามธรรม ก็คือ ก่อนที่โปรแกรมเขาจะเขียนโปรแกรมแต่ละบรรทัดนั้น เขาจะต้องมีไอเดีย ว่าโปรแกรมที่เขาต้องการ มีคุณสมบัติอย่างไร หรือทำงานอะไรได้บ้าง ซึ่งการคิดเหล่านี้คือ แนวคิดเชิงนามธรรม ซึ่งเมื่อเขียนโปรแกรมและนำไปใช้งานได้แล้ว ถึงจะเรียกว่ามันกลายเป็นรูปธรรม
พูดอีกอย่าง แนวคิดเชิงนามธรรม คือ การคิดนอกกรอบ ซึ่งก็อาจทำให้เรางงไปกันใหญ่ เพราะถ้าจะว่าไปแล้วแนวคิดเชิงนามธรรม ก็เป็นความคิดที่เป็นนามธรรมในตัวเอง
คุณสมบัติของคนที่เป็นนักคิดเชิงนามธรรม
- คุณคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกันเป็นภาพใหญ่
- คุณไม่เพียงแค่ถามว่าอย่างไร แต่คุณมักถามว่าทำไม
- คุณมองหาความหมายและรูปแบบที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
- คุณพยายามที่จะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ถ้าคุณเป็นนักคิดเชิงนามธรรม คุณก็จะสามารถพิจารณาปัญหาทั้งหมด รวมถึงส่วนต่างๆ ของมัน และความสัมพันธ์ของแต่ละส่วน ซึ่งการที่เราจะคิดแบบนั้นได้ เราต้องฝึกฝนการคิดเชิงนามธรรมเป็นประจำ
เทคนิคในการฝึกฝนทักษะการคิดเชิงนามธรรม
ในแต่ละวันเราอาจได้ฝึกคิดเชิงนามธรรมอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว และมีหลายวิธีที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้ฝึกฝนทักษะการคิดเชิงนามธรรม
เทคนิคที่ 1 หาแนวคิด
ทุกครั้งที่เรานึกถีงอะไรก็ตามที่ไม่เป็นรูปธรรม นั่นคือเรากำลังคิดเชิงนามธรรม เช่น เมื่อเรามองพระพุทธรูปซึ่งเป็นรูปธรรม แต่ให้เราคิดถึงนามธรรมที่ซ่อนอยู่ ซึ่งอาจหมายถึง ความศรัทธา ความสงบร่มเย็น เป็นต้น
เทคนิคที่ 2 หาทฤษฎี
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้ทฤษฎีในการอธิบายเหตุการณ์ นั่นคือ เรากำลังคิดเชิงนามธรรม ซึ่งทฤษฎีอาจมีการใช้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรม แต่อาจใช้การคาดเดาซึ่งเป็นนามธรรม เช่น มีข่าวแผ่นดินไหวใต้ทะเล เราอาจใช้ทฤษฎีการเกิดสึนามิ มาคาดเดาเหตุการณ์ต่างๆ
เทคนิคที่ 3 ใช้จินตนาการ
เรื่องง่ายๆ อย่างการใช้จินตนาการก็คือเป็นการคิดเชิงนามธรรม การที่เราคิดถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่มีอยู่จริงในรูปแบบทางกายภาพ ก็คือการคิดเชิงนามธรรม เช่น มีเพื่อนคนหนึ่งซื้อดอกกุหลาบมาให้เรา แล้วเราจินตนาการไปว่า เขารู้สึกพิเศษกับเรา ก็คือเป็นการฝึกคิดเชิงนามธรรมได้เช่นกัน
เทคนิคที่ 4 ใช้อุปมาอุปมัย
การใช้อุปมาอุปมัยในการสร้างความสัมพันธ์กับสองแนวคิดที่อาจเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม ซึ่งถ้าเราหาความสัมพันธ์ของแนวคิดเหล่านั้นได้ ก็ถือว่าเป็นคิดเชิงนามธรรม
สรุป
ผมสอนวิชาการทำภาพยนตร์สั้นให้กับนักเรียน และบ่อยครั้งที่นักเรียนมักจะประสบปัญหาการคิดบทภาพยนตร์ไม่ออก ซึ่งผมก็จะช่วยแนะนำแนวทางที่เรื่องราวมันอาจจะเป็นไปได้ ซึ่งการที่เราสามารถให้คำแนะนำได้นั้น ก็เกิดจากการที่เราได้มีประสบการณ์ในการเล่าเรื่องในหลายรูปแบบ ทำให้สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของเรื่องราว และสามารถหยิบมาใช้แก้ปัญหาในเรื่องราวที่คล้ายๆ กันได้ หรือบางครั้งที่มีงานให้ผลิตวีดีโอนำเสนอหน่วยงานต่างๆ เราก็จะรู้ว่าควรเล่าเรื่องอย่างไร หรือมีรูปแบบการนำเสนอย่างไร ทำให้ประหยัดเวลาในการผลิต
ดังนั้น หากเราฝึกฝนการคิดเชิงนามธรรมอยู่สม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้เห็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้นั่นเอง
ที่มา https://www.7pace.com/blog/abstract-thinking-exercises