ทุกครั้งที่เราเปิดใช้สมาร์ตโฟน เช่น เล่น Facebook ดู Youtube หรือซื้อสินค้าออนไลน์ ก็จะมีระบบการทำงานที่ซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง เพื่อควบคุมการทำงานของสมาร์ตโฟน ซึ่งเกิดจากการเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหา
แต่ในการเขียนโปรแกรมนั้น ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเสมอไป เราสามารถเขียนโปรแกรมง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ได้ เพราะ “ทุกคนสามารถเขียนโปรแกรมได้”
การเขียนโปรแกรม คือ การคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ซึ่งนักเรียนได้ฝึกฝนวิธีการแก้ปัญหาด้วยแนวคิดเชิงนามธรรมมาแล้ว ต่อจากนี้นักเรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับขั้นตอนและเครื่องมือสำหรับการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน และปัญหาที่ใช้ในการคำนวณ
ขั้นตอนการแก้ปัญหา
การแก้ปัญหาเป็นกิจกรรมพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปัญหาบางปัญหาสามารถหาคำตอบได้ในทันที ขณะที่บางปัญหาใช้เวลานานในการค้นหาคำตอบ อย่างไรก็ตามทุกคนต่างต้องการหาวิธีการในการแก้ปัญหาที่ทำให้ได้คำตอบที่ถูกต้องในเวลารวดเร็ว การแก้ปัญหาประกอบด้วย 4 ขั้นตอน
1. วิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา เป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดเงื่อนไข ข้อกำหนด รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของปัญหา ข้อมูลที่จำเป็นในการแก้ปัญหา ตรวจสอบว่ามีข้อมูลเพียงพอหรือไม่ จะหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วนต่อการใช้แก้ปัญหาได้อย่างไร ข้อมูลผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร และจะตรวจสอบความถูกต้องของผลลัพธ์ที่ได้อย่างไร
2. การวางแผนการแก้ปัญหา เครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนการแก้ปัญหา สำหรับการพัฒนาโปรแกรม อาจเลือกใช้รหัสลำลอง หรือผังงาน โดยวิธีการแก้ปัญหาที่ได้เรียกว่า ขั้นตอนวิธีหรืออัลกอริทึม (algorithm) ซึ่งเป็นลำดับขึ้นตอนในการแก้ปัญหาหรือการทำงานที่ชัดเจน
3. การดำเนินการปัญหา เป็นกระบวนการที่ได้วางแผนไว้มาปฏิบัติ หรือพัฒนาโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหา โดยอาจใช้ภาษาโปรแกรมช่วยในการดำเนินการ
4. การตรวจสอบและประเมินผล ขั้นตอนนี้จะทำควบคู่ไปกับขั้นตอนการดำเนินการแก้ปัญหา โดยการตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้ไม่ถูกต้อง หรือยังมีส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอยู่ ต้องย้อนกลับไปทำซ้ำตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง