ถ้าคุณเข้ากูเกิลแล้วลองค้นหาคำว่า แนวคิดเชิงนามธรรม คุณจะพบกับเนื้อหาจำนวนมากเลยครับ และเนื้อหาต่อไปนี้ เป็นข้อสรุปและข้อคิดเห็นของผม
การคิดเชิงนามธรรม คืออะไร?
การคิดเชิงนามธรรม คือความสามารถในการคิดต่อไปนี้
- การคัดเลือกรายละเอียดที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหา
- สรุปรูปแบบจากสถานการณ์ต่างๆ
- การเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ และบอกคุณสมบัติที่สิ่งเหล่านั้นมีเหมือนกัน
- การเชื่อมโยงข้อมูล เช่น ความเข้าใจในความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่างๆ
- เข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้อความ เหตุการณ์และสถานการณ์
อาจกล่าวได้ว่า การคิดเชิงนามธรรม (Abstract Thinking) ก็คือด้านตรงกันข้ามของการคิดเชิงรูปธรรม (Concrete Thinking) ตัวอย่างสถานการณ์ของการคิดเชิงนามธรรม กับรูปธรรม เช่น มีคนสองคนยืนมองภูเขาหนึ่งลูก คนนึงเอ่ยขึ้นมาว่า “ดูภูเขาลูกนั้นสิ ต้นไม้เขียวขจี ขึ้นเต็มไปหมดเลย” อีกคนพยักหน้าแล้วพูดว่า “ต้นไม้เหล่านั้นจะช่วยให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้อาศัย” แม้คนทั้งสองจะมองคนละอย่าง แต่ทั้งสองความคิดก็มีพื้นฐานของความคิดและมีคุณค่าไม่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม บางคนอาจคิดแบบนามธรรมเก่งกว่า แต่บางคนอาจคิดแบบรูปธรรมเก่งกว่า แต่เมื่อเราเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ สิ่งที่เราใช้แก้ปัญหาคือการคิดเชิงนามธรรม เพราะการคิดเชิงนามธรรม จะช่วยให้เราประยุกต์ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนได้
การคิดเชิงนามธรรมเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ลองนึกถึงตอนที่คุณอายุ 4 ขวบ แล้วมีคนมาบอกว่า อีก 1 ปีคุณจะได้ไปโรงเรียน ตอนนั้นแนวคิดของคำว่า “ปี” นั้นใหม่มาก เพราะตอนเราอายุ 4 ขวบ เราจะคุ้นเคยแค่คำว่า วันพรุ่งนี้ หรือวันมะรืน แต่พอบอกว่า “ปี” เราก็นึกไม่ออกว่ามันคืออะไร มันจะมาถึงเมื่อไหร่ เราในวัยสี่ขวบคงสับสนกับคำว่าปีไม่มากก็น้อย เช่นกันกับที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเราว่า จักรวาลมีอายุมากกว่า 13.8 พันล้านปี มันเป็นเรื่องยากที่เราจะจินตนาการถึง และที่ยากยิ่งกว่าคือแนวคิดที่ว่าก่อนหน้านั้นอาจไม่มีเวลา นั้นคือเวลานั้นไม่มีอยู่จริง เพราะมันเป็นเรื่องนามธรรม
ยังมีแง่มุมเกี่ยวกับแนวคิดเชิงนามธรรมอีกมากมายให้เราเรียนรู้ แต่สิ่งที่น่าสนใจตอนนี้คือเราจะสอนแนวคิดเชิงนามธรรมให้กับคนอื่นได้อย่างไร
แนวคิดเชิงนามธรรมจากการนับ
ตอนที่เราเรียนรู้ที่จะนับครั้งแรก พ่อแม่อาจจะสอนให้เรานับนิ้วมือ แต่แล้ววันหนึ่งนิ้วมือกับนิ้วเท้าของเราก็ไม่พอที่จะนับ ตอนนั้นเราทำอย่างไรเราถึงนับจำนวนที่มากกว่านิ้วมือนิ้วเท้าได้ ตอนนั้นเราอาจจะเริ่มดูและฟังคนอื่นนับ ทั้งนับนิ้ว นับเงิน นับเลขต่างๆ แล้วในที่สุดเราก็เข้าใจว่า การนับไม่เกี่ยวกับนิ้ว แต่การนับคือ “จำนวน” ในตอนนั้นเองที่เราเปลี่ยนวิธีคิดจากรูปธรรมเป็นนามธรรม
มนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้แนวคิดเชิงนามธรรมในหลายเรื่อง ตั้งแต่ครั้งแรกที่เราเห็น แต่อาจมีปัญหาและอุปสรรคในบางเรื่อง เช่น คุณอาจเก่งในเรื่องการสรุปแนวคิดที่เกี่ยวกับโครงสร้างและการวางแผน แต่ไม่เชี่ยวชาญในเรื่องนามธรรมที่เกี่ยวกับการเงิน การบัญชี งบดุล เป็นต้น
การสอนแนวคิดเชิงนามธรรม
ตอนผมสอนเกี่ยวกับแนวคิดเชิงนามธรรม ผมมักจะเริ่มต้นจากการยกตัวอย่างรูปธรรม ให้จำได้ก่อน และเมื่อจดจำรูปธรรมได้แล้ว จึงอธิบายนามธรรม แล้วก็บอกว่ารูปธรรมนั้นสอดคล้องกับนามธรรมอย่างไร
ขั้นที่ 1 สอนรูปธรรม
พีชคณิตเป็นหนึ่งในการคิดเชิงนามธรรม ขั้นตอนพื้นฐานในการสอน เราจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น ถ้าคุณมีแอปเปิ้ล 3 ผล ฉันให้แอปเปิ้ลอีกผล คุณจะมีแอปเปิ้ลกี่ผล (คำตอบคือ 4 ผล) หรือถ้าคุณมีแอปเปิ้ล 6 ผล แล้วฉันให้แอปเปิลอีกผล คุณจะมีแอปเปิ้ลกี่ผล (คำตอบคือ 7 ผล)
ขั้นที่ 2 สอนนามธรรม
จากขั้นตอนที่แล้ว เราจะแก้โจทย์เป็น “ไม่ว่าคุณจะมีแอปเปิ้ลกี่ผลก็ตาม ฉันจะให้แอปเปิ้ลอีกอันแก่คุณเสมอ” ดังนั้น หากเราใช้ตัวอักษร “n” เป็นสัญลักษณ์แทนจำนวนแอปเปิ้ลที่คุณมี หลังจากที่ฉันให้แอปเปิ้ลหนึ่งผลแก่คุณ คุณก็จะมีแอปเปิ้ล n+1 ผล
ขั้นที่ 3 ย้อนกลับไปรูปธรรม
หากคุณมีแอปเปิ้ล 3 ผล ดังนั้น n = 3 และเมื่อได้รับแอปเปิ้ลหนึ่งผล ก็คือ n + 1 หรือ 3 + 1 ผลรวมก็คือ 4 นั่นเอง
ขั้นที่ 4 ประยุกต์ใช้นามธรรม
ดังนั้น n หมายถึง จำนวนแอปเปิ้ลที่คุณมี และ n+1 คือจำนวนแอปเปิ้ลที่คุณมีหลังจากที่ได้รับแอปเปิ้ลหนึ่งผล และไม่ว่าต่อไปจะได้รับแอปเปิ้ลกี่ผล เราก็สามารถแก้ปัญหาด้วยแนวคิดเชิงนามธรรมได้แล้ว ซึ่งอาจเป็น n + 2 หรือ n + 3 เป็นต้น
ข้อแนะนำ
การสอนแนวคิดเชิงนามธรรมให้คนอื่นเข้าใจ มีขั้นตอนดังนี้
- ยกตัวอย่างรูปธรรม หลายๆ อย่าง
- แนะนำการเชื่อมโยงระหว่างรูปธรรมกับนามธรรม
- อธิบายให้เห็นว่าตัวอย่างนั้น มีการเชื่อมโยงรูปธรรมกับนามธรรมอย่างไร
- ประยุกต์ใช้นามธรรมในการแก้ปัญหาที่คล้ายๆ กัน
สรุป
ตอนผมสอนนักเรียนเขียนโปรแกรมด้วยภาษาไพทอน นักเรียนก็สามารถเขียนได้ และทำข้อสอบได้ แต่วันหนึ่งผมลองเอาโค้ดโปรแกรมที่เป็นภาษาซีไปให้นักเรียนดู แล้วถามนักเรียนว่าเข้าใจหรือไม่ นักเรียนส่วนใหญ่บอกว่าไม่เข้าใจ เพราะไวยากรณ์ของภาษาที่แตกต่างกัน รวมถึงการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ก็แตกต่างกัน ผมจึงบอกนักเรียนว่า โปรแกรมที่ยกตัวอย่างมานี้ ทำงานเหมือนกับไพทอน แล้วให้นักเรียนลองเปรียบเทียบกันดู ปรากฎว่า โปรแกรมภาษาซีที่ดูเหมือนจะไม่เข้าใจในตอนแรกนั้น นักเรียนกลับสามารถอธิบายหลักการทำงานของโปรแกรมนั้นได้ เพราะโครงสร้างการทำงานเหมือนกัน
จะเห็นได้ว่าหากนักเรียนได้รับการพัฒนาการคิดเชิงนามธรรม เขาจะสามารถนำไปแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้