หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราชการ 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ได้กำหนดรายวิชาใหม่ คือ วิชาวิทยาการคำนวณ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนได้ใช้ทักษะการคิดเชิงคำนวณ ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงและทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เนื้อหาของระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้มีการกำหนดตัวชี้วัดให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดเชิงนามธรรรม (Abstract Thinking) ซึ่งนับเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างใหม่ แต่ในต่างประเทศนั้นได้มีการสอนเนื้อหานี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว
แนวคิดเชิงนามธรรมคืออะไร ?
แนวคิดเชิงนามธรรม (abstract thinking หรือ abstraction) เป็นองค์ประกอบหนึ่งของแนวคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) ซึ่งใช้กระบวนการคัดแยกคุณลักษณะที่สำคัญออกจากรายละเอียดปลีกย่อย ในปัญหาหรืองานที่กำลังพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอในการแก้ปัญหา
บางตำราก็บอกว่า การคิดเชิงนามธรรม คือความสามารถในการคิดต่อไปนี้
- การคัดเลือกรายละเอียดที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหา
- สรุปรูปแบบจากสถานการณ์ต่างๆ
- การเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ และบอกคุณสมบัติที่สิ่งเหล่านั้นมีเหมือนกัน
- การเชื่อมโยงข้อมูล เช่น ความเข้าใจในความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่างๆ
- เข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้อความ เหตุการณ์และสถานการณ์
นอกจากนี้เรายังสามารถกล่าวได้อีกว่า การคิดเชิงนามธรรม (Abstract Thinking) ก็คือด้านตรงกันข้ามของการคิดเชิงรูปธรรม (Concrete Thinking) นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น มีคน 2 คน มองดูภูเขาลูกเดียวกัน
การคิดเชิงรูปธรรม (Concrete Thinking) | การคิดเชิงนามธรรม (Abstract Thinking) |
คนที่ 1 กล่าวว่า “ดูภูเขาลูกนั้นสิ ต้นไม้เขียวขจี ขึ้นเต็มไปหมดเลย” | คนที่ 2 กล่าวว่า “ต้นไม้เหล่านั้นจะช่วยให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้อาศัย” |
แม้คนทั้งสองจะมองคนละอย่าง แต่ทั้งสองความคิดก็มีพื้นฐานของความคิดและมีคุณค่าไม่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม บางคนอาจคิดแบบนามธรรมเก่งกว่า แต่บางคนก็อาจคิดแบบรูปธรรมเก่งกว่า แต่เมื่อเราเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ สิ่งที่เราใช้แก้ปัญหาคือการคิดเชิงนามธรรม เพราะการคิดเชิงนามธรรม จะช่วยให้เราประยุกต์ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนได้
คุณสมบัติของคนที่เป็นนักคิดเชิงนามธรรม
- คุณคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกันเป็นภาพใหญ่
- คุณไม่เพียงแค่ถามว่าอย่างไร แต่คุณมักถามว่าทำไม
- คุณมองหาความหมายและรูปแบบที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
- คุณพยายามที่จะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ถ้าเราสามารถพัฒนานักเรียนของเราให้เป็นนักคิดเชิงนามธรรม นักเรียนของเราก็จะสามารถพิจารณาปัญหาทั้งหมด รวมถึงส่วนต่างๆ ของมัน และความสัมพันธ์ของแต่ละส่วน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนการคิดเชิงนามธรรมเป็นประจำ
ขั้นตอนการสอนคิดเชิงนามธรรม
การสอนแนวคิดเชิงนามธรรม มีหลายวิธี แต่โดยทั่วไปเรามักจะเริ่มจากรูปธรรม ให้นักเรียนจำได้ก่อน และเมื่อนักเรียนจดจำรูปธรรมได้แล้ว จึงอธิบายนามธรรม แล้วสรุปว่ารูปธรรมนั้น สอดคล้องกับนามธรรมอย่างไร
ขั้นที่ 1 สอนรูปธรรม
พีชคณิตเป็นหนึ่งในการคิดเชิงนามธรรม ขั้นตอนพื้นฐานในการสอน เราจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น ถ้าคุณมีแอปเปิ้ล 3 ผล ฉันให้แอปเปิ้ลอีกผล คุณจะมีแอปเปิ้ลกี่ผล (คำตอบคือ 4 ผล) หรือถ้าคุณมีแอปเปิ้ล 6 ผล แล้วฉันให้แอปเปิลอีกผล คุณจะมีแอปเปิ้ลกี่ผล (คำตอบคือ 7 ผล)
ขั้นที่ 2 สอนนามธรรม
จากขั้นตอนที่แล้ว เราจะแก้โจทย์เป็น “ไม่ว่าคุณจะมีแอปเปิ้ลกี่ผลก็ตาม ฉันจะให้แอปเปิ้ลอีกอันแก่คุณเสมอ” ดังนั้น หากเราใช้ตัวอักษร “n” เป็นสัญลักษณ์แทนจำนวนแอปเปิ้ลที่คุณมี หลังจากที่ฉันให้แอปเปิ้ลหนึ่งผลแก่คุณ คุณก็จะมีแอปเปิ้ล n+1 ผล
ขั้นที่ 3 ย้อนกลับไปรูปธรรม
หากคุณมีแอปเปิ้ล 3 ผล ดังนั้น n = 3 และเมื่อได้รับแอปเปิ้ลหนึ่งผล ก็คือ n + 1 หรือ 3 + 1 ผลรวมก็คือ 4 นั่นเอง
ขั้นที่ 4 ประยุกต์ใช้นามธรรม
ดังนั้น n หมายถึง จำนวนแอปเปิ้ลที่คุณมี และ n+1 คือจำนวนแอปเปิ้ลที่คุณมีหลังจากที่ได้รับแอปเปิ้ลหนึ่งผล และไม่ว่าต่อไปจะได้รับแอปเปิ้ลกี่ผล เราก็สามารถแก้ปัญหาด้วยแนวคิดเชิงนามธรรมได้แล้ว ซึ่งอาจเป็น n + 2 หรือ n + 3 เป็นต้น
ข้อแนะนำ
การสอนแนวคิดเชิงนามธรรมให้คนอื่นเข้าใจ มีขั้นตอนดังนี้
- ยกตัวอย่างรูปธรรม หลายๆ อย่าง
- แนะนำการเชื่อมโยงระหว่างรูปธรรมกับนามธรรม
- อธิบายให้เห็นว่าตัวอย่างนั้น มีการเชื่อมโยงรูปธรรมกับนามธรรมอย่างไร
- ประยุกต์ใช้นามธรรมในการแก้ปัญหาที่คล้ายๆ กัน
เทคนิคการสอนคิดเชิงนามธรรม
ไม่ว่าครูจะสอนวิชาอะไร ก็สามารถฝึกฝนทักษะการคิดเชิงนามธรรมให้กับนักเรียนได้ ด้วยเทคนิคการสอนคิดเชิงนามธรรมต่อไปนี้ครับ
เทคนิคที่ 1 คิดเกี่ยวกับแนวคิด
ทุกครั้งที่เรานึกถีงอะไรก็ตามที่ไม่เป็นรูปธรรม นั่นคือเรากำลังคิดเชิงนามธรรม เช่น เมื่อเรามองพระพุทธรูปซึ่งเป็นรูปธรรม แต่ให้เราคิดถึงนามธรรมที่ซ่อนอยู่ ซึ่งอาจหมายถึง ความศรัทธา ความสงบร่มเย็น เป็นต้น
เทคนิคที่ 2 หาทฤษฎี
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้ทฤษฎีในการอธิบายเหตุการณ์ นั่นคือ เรากำลังคิดเชิงนามธรรม ซึ่งทฤษฎีอาจมีการใช้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรม แต่อาจใช้การคาดเดาซึ่งเป็นนามธรรม เช่น มีข่าวแผ่นดินไหวใต้ทะเล เราอาจใช้ทฤษฎีการเกิดสึนามิ มาคาดเดาเหตุการณ์ต่างๆ
เทคนิคที่ 3 ใช้จินตนาการ
เรื่องง่ายๆ อย่างการใช้จินตนาการก็คือเป็นการคิดเชิงนามธรรม การที่เราคิดถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่มีอยู่จริงในรูปแบบทางกายภาพ ก็คือการคิดเชิงนามธรรม เช่น มีเพื่อนคนหนึ่งซื้อดอกกุหลาบมาให้เรา แล้วเราจินตนาการไปว่า เขารู้สึกพิเศษกับเรา ก็คือเป็นการฝึกคิดเชิงนามธรรมได้เช่นกัน
เทคนิคที่ 4 ใช้อุปมาอุปมัย
การใช้อุปมาอุปมัยในวิชาภาษาไทย โดยการสร้างความสัมพันธ์กับสองแนวคิดที่อาจเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม เช่น ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ความหมายเชิงนามธรรม คือ ทำได้ง่ายจริงๆ หรือ เงียบเป็นเป่าสาก ความหมายเชิงนามธรรม คือ เงียบจริงๆ ราวกับเป่าสากซึ่งเป่าเท่าไรก็ไม่มีเสียง เป็นต้น ซึ่งถ้าเราหาความสัมพันธ์ของแนวคิดเหล่านั้นได้ ก็ถือว่าเป็นคิดเชิงนามธรรม
คุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 (หมายถึงคนที่เกิดในปี ค.ศ. 1995 – 2538 จนถึงปัจจุบัน) ผู้เรียนในยุคนี้จะมีการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากผู้เรียนยุคก่อนๆ ค่อนข้างชัดเจน เพราะเขาเกิดมาพร้อมกับยุคที่มีคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต มีเครื่องมือสื่อสารต่างๆที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก ผู้เรียนในยุคนี้มักจะชอบทำงานเป็นทีม หรือการเรียนรู้ในเรื่องที่ตัวเองสนใจ จึงเกิดเป็นสโลแกนที่เรียกผู้เรียนในยุคนี้ว่า i, me first, ipod, myself, my own need มันสะท้อนให้เห็นความต้องการ ความจำเป็นและความสนใจของตนเป็นสำคัญ
ดังนั้น ผู้เรียนยุคนี้จะให้ความสนใจกับการเรียนรู้จากเครือข่าย หรือจากชุมชนคนรอบตัว และชุมชนแบบออนไลน์มากกว่าการรู้จักผู้สอนในชั้นเรียน ส่งผลให้เด็กยุคนี้มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากเด็กยุคก่อน โดยมีคุณลักษณะ ดังนี้
- ความรับผิดชอบและพึ่งพาตนเองในการเรียนรู้ (Autonomous Learning)
- ทักษะด้านการคิด (Thinking Skills)
- ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Collaborators)
- ทักษะในการสืบเสาะค้นหา (Enquirers)
- ความกระตือรือร้น (Active Learners)
- ทักษะพื้นฐานด้านไอซีที (ICT Skills)
- ทักษะในด้านการใช้ภาษาสากล (Second Language Skills)
- ความสนใจในวัฒนธรรม (Engaged with Cultures) และความตระหนักถึงความเป็นไปในโลก (World Awareness)
การสอนแนวคิดเชิงนามธรรมสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
หัวใจสำคัญในการสอนแนวคิดเชิงนามธรรม ก็คือการยกตัวอย่างรูปธรรมให้นักเรียนจดจำได้ก่อน แล้วจึงอธิบายความเป็นนามธรรมของสิ่งนั้น โดยผมได้จัดการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ (On-line) โดยเลือกใช้ learning platform ของ Google Classroom ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้การจัดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อรวบรวมความรู้ไว้ให้นักเรียนได้ศึกษาในรูปแบบออนดีมานด์ (On demand)
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาคอนเทนต์ ในรูปแบบวีดิทัศน์เพื่อการเรียนการสอน ร่วมกับ AIS Academy เรื่อง “แนวคิดเชิงนามธรรม (Abstract Thinking) เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา ซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาได้ฟรีที่เว็บไซต์ https://learndi.aisacademy.com/
เนื้อหาในวีดิทัศน์เพื่อการเรียนการสอน ก็จะนำเสนอความหมายของแนวคิดเชิงนามธรรม รวมถึงขั้นตอนการคัดเลือกคุณลักษณะที่จำเป็นในการแก้ปัญหา ไปจนถึงการถ่ายทอดรายละเอียดของปัญหาและการแก้ปัญหา
เทคนิคในการผลิตวีดิทัศน์เพื่อการเรียนการสอน เรื่อง “แนวคิดเชิงนามธรรม”
การสอนแนวคิดเชิงนามธรรม จะต้องเริ่มต้นด้วยการนำเสนอรูปธรรมให้นักเรียนจดจำได้ จากนั้นจึงอธิบายความเป็นนามธรรม ซึ่งสามารถสรุปเป็นเทคนิคในการผลิตวีดิทัศน์เพื่อการเรียนการสอน เรื่องแนวคิดเชิงนามธรรมได้ดังนี้
- นำเสนอรูปธรรมให้นักเรียนจดจำได้
- อธิบายความเป็นนามธรรม
- ยกตัวอย่างสถานการณ์ปัญหาในชีวิตประจำวัน
- นำเสนอการแก้ปัญหาด้วยแนวคิดเชิงนามธรรม
- สรุปด้วยข้อความหรือกราฟิกเพื่อสร้างการจดจำ
ข้อดีของการผลิตวีดิทัศน์เพื่อการเรียนการสอน ก็คือ เราสามารถตัดต่อเนื้อหาให้กระชับและได้ใจความ เพราะนักเรียนในยุคนี้ชอบความรวดเร็ว ซึ่งถ้านักเรียนคนไหนไม่เข้าใจ พวกเขาก็สามารถกดปุ่มย้อนกลับไปดูซ้ำได้ตามต้องการ นอกจากนี้ การผลิตสื่อวีดิทัศน์ ยังช่วยให้เราเพิ่มเอฟเฟก ภาพเคลื่อนไหว เสียง หรือดนตรีประกอบ เพื่อสร้างความเข้าใจและดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้ดีอีกด้วย
สรุป
การสอนแนวคิดเชิงนามธรรม “Abstract Thinking” สำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ให้ประสบความสำเร็จ ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชา และเข้าใจลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 เพื่อที่จะสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียน